พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เรื่อง การร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุมจำเนียรสาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ โดยมี น.ส.บัณฑรโฉม แก้วสอาด ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเปิด พร้อมด้วย ม.ล.พงศ์ระพีพร อาภากร ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์และพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายพีรพัฒน์ เหรียญประยูร ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายเศรษฐกิจการเงิน สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินการประชุมการนำเสนอความคิดเห็นในครั้งนี้ นำโดย ดร.ก๊ก ดอนสำราญ ประธานกรรมการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด และนายสุภาพ จันทร์ภิรมย์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยผู้แทนสหกรณ์จำนวน 20 คน ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นจากผู้นำสหกรณ์ที่เข้าร่วมสัมมนากว่า 320 คน โดยใช้ระยะเวลาอภิปรายตั้งแต่เวลา 13.30น. ถึง 17.30น. ซึ่งเป็นการนำเสนอความคิดเห็นหลากหลายทัศนะมุมมองและเหตุผล แต่เป็นที่น่ายินดีที่ทุกเสียงทุกคำล้วนหนุนสร้างผนึกพลังสหกรณ์สะท้อนความเป็นหนึ่ง มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน คือ “ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการทางการเงิน” ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ดังนี้
1) สหกรณ์ คือ “คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคมบนพื้นฐานอุดมการณ์แห่งการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ 7 ประการ ซึ่งจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม” สหกรณ์เป็นทางสายกลางระหว่างสังคมนิยมและทุนนิยม ดังนั้นรัฐจึงควรธำรงรักษาระบบสหกรณ์ไว้ ไม่ใช่ผลักดันเข้าสู่ระบบทุนนิยมตามแนวคิด พ.ร.บ.ใหม่นี้
2) ร่าง พ.ร.บ.การเงิน ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา84 (9) ที่ว่า “ส่งเสริมสนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ฯ” และฉบับลงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 75 วรรคสาม “รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์” อีกทั้ง ขัดต่อหลักการสหกรณ์สากล หลักการที่ 4 การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ และหลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (รัฐต้องสนับสนุนให้รวมกันช่วยเหลือกันเป็นระบบสหกรณ์ ไม่ใช่แบ่งแยกสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ออกมาจากสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ซึ่งถือเป็นการทำลายระบบสหกรณ์ รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรที่สหกรณ์ไม่มีส่วนร่วมเลยขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์)
3) การจัดทำร่างพ.ร.บ.การเงิน ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล คือหลักความโปร่งใส ซึ่งต้องเปิดเผยข้อมูล ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (แต่ไม่เปิดเผยร่าง พ.ร.บ.) หลักการมีส่วนร่วม ซึ่งต้องเคารพในสิทธิให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรม (ซึ่งสหกรณ์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.) และหลักความคุ้มค่า มีการจัดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ซ้ำซ้อน สิ้นเปลือง (การตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการทางการเงิน (คกง.) ซ้ำซ้อนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์)
4) การพัฒนากระบวนการดำเนินงาน การส่งเสริมและพัฒนาทางการเงิน และการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งด้านแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิก (Market Conduct) ด้านธรรมาภิบาล (Governance) และด้านความมั่นคงทางการเงิน( Prudence) สามารถกระทำได้โดยการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติภายใต้ พร.บ. สหกรณ์ปัจจุบันหรือที่จะปรับปรุงในอนาคตได้ ไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.บ. ใหม่ให้ซ้ำซ้อนสับสน
5) การจัดตั้งสำนักงาน คกง. มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทำให้การกำกับและส่งเสริมสหกรณ์ไม่เป็นเอกภาพ สิ้นเปลืองงบประมาณรัฐ และเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเรียกเก็บเงินสมทบจากสหกรณ์ แต่หากมีภารกิจพิเศษเพิ่มขึ้น ก็ให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
6) สามารถพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงอำนาจหน้าที่และภารกิจ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้ทำหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินการขั้นต่อไปทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะมีการนำข้อสรุปของการสัมมนาในวันนี้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านทางที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติเพื่อพิจารณาและทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็จะนำข้อสรุปของการสัมมนาในวันนี้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเช่นกัน