TH | EN

   

 




คณะผู้บริหาร และสมาชิก ชสอ. เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนในภูมิภาคเอเชียและการประชุมใหญ่ ACCU ประจำปี 2567
        สมาคมสมาพันธ์สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตในเอเชีย (Association of Asian Confederation of Credit Unions: ACCU) จัดการสัมมนาทางวิชาการสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนในภูมิภาคเอเชีย และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ขึ้น ระหว่างวันที่ 5 – 8 กันยายน 2567 ณ โรงแรม Prime Plaza Sanur เกาะบาหลี ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่ง ชสอ. ในฐานะสมาชิกสามัญของ ACCU ได้ส่งบุคลากร ประกอบด้วย กรรมการดำเนินการ ผู้แทนสมาชิก และเจ้าหน้าที่ ชสอ. เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการและประชุมใหญ่ดังกล่าวด้วย 
       การจัดสัมมนาทางวิชาการได้จัดก่อนหน้าการประชุมใหญ่รวม 3 วัน คือ วันที่ 5 – 7 กันยายน 2567 ในหัวข้อ “การสร้างศักยภาพการรับมือขององค์กร : การเชื่อมต่อสู่อนาคตที่ยั่งยืนของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนในภูมิภาคเอเชีย (Rooted Resilience: Bridging Gaps for Sustainable Future of Asian Credit Unions)” เป็นการสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบูรณาการเครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ธรรมาภิบาล ภาวะผู้นำ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน เทคโนโลยีดิจิทัล และบทบาทสตรี
        โดยในช่วงเช้าของการสัมมนาเป็นพิธีเปิดการสัมมนา มีผู้เข้าร่วมงาน 534 คน จาก 30 ประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ มีนักสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนจากประเทศไทยเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 23 คน ทางเจ้าภาพซึ่งได้แก่ Credit Union Central of Indonesia (CUCO) ได้มีการจัดเตรียมการแสดงต้อนรับผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี และมี Mr. Kim Younsik ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (National Credit Union Federation of Korea: NACUFOK) และประธานกรรมการ ACCU ให้การกล่าวต้อนรับ 
        หัวข้อการสัมมนา 2 วัน โดยวิทยากรชั้นนำจากประเทศต่างๆ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศแคนาดา เป็นต้น
 
วันแรก
สัมมนารวม หัวข้อที่ 1  เรื่อง “การเชื่อมช่องว่าง การขจัดความท้าทายของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
สัมมนารวม หัวข้อที่ 2  เรื่อง “การกำกับดูแลด้านจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติที่ดี  การส่งเสริมค่านิยมในการดำเนินงานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน”
สัมมนารวม หัวข้อที่ 3  เรื่อง “การนำเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาปรับปรุงประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อปิดช่องว่างด้านบริการทางการเงิน”
 
สัมมนากลุ่มย่อยที่ 1 
กลุ่ม 1.1  การเข้าถึงบริการทางการเงิน: สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดเล็กและการเงินรายย่อย เพิ่มการเข้าถึงบริการสินเชื่อแก่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
กลุ่ม 1.2  ยุคสมัยของกลุ่มคนตามช่วงอายุ: กลยุทธ์การให้บริการและการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกช่วงอายุ
กลุ่ม 1.3  ความยั่งยืน: การวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง การสร้างภาวะผู้นำและผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่ออนาคตขององค์กร
โดยในค่ำคืนแรกนี้ มีงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำโดยเจ้าภาพ “Indonesian Night” ซึ่งมีดนตรีและการแสดงมากมาย
 
วันที่สอง
สัมมนารวม หัวข้อที่ 4 เรื่อง “การเสริมสร้างพลังแก่ชุมชนและผู้คน การเดินทางของกลุ่มการเงินสหกรณ์ Desjardins ตั้งแต่การรวมตัวก่อตั้งและความสามารถในการฟื้นตัวจากอุปสรรคและปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็ว” 
สัมมนารวม หัวข้อที่ 5 เรื่อง “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โอกาสและความท้าทายสำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน”
 
สัมมนากลุ่มย่อยที่ 2
กลุ่ม 2.1  การเข้าถึงบริการทางการเงิน: การเสริมสร้างพลังอำนาจและการศึกษาแก่สมาชิก การส่งเสริมสุขภาวะทางการเงิน      
กลุ่ม 2.2  ยุคสมัยของกลุ่มคนตามช่วงอายุ: การนำทางไปสู่การแบ่งแยกทางดิจิทัล การเตรียมสมาชิกในทุกช่วงวัยให้พร้อมสำหรับยุคการเงินการธนาคารแบบดิจิทัล      
กลุ่ม 2.3  ความยั่งยืน: การสนับสนุนนโยบายและกรอบการกำกับดูแล การกำหนดอนาคตของขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในภูมิภาคเอเชีย
สัมมนารวม หัวข้อที่ 6 เรื่อง “การเสริมสร้างบทบาทสตรีในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กลยุทธ์เพื่อปิดช่องว่างระหว่างเพศและสนับสนุนส่งเสริมภาวะผู้นำ”    
สัมมนารวม หัวข้อที่ 7 การมีส่วนร่วมของชุมชนและผลกระทบ การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพื่อการพัฒนาสังคม (เรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ของ NACUFOK)
สัมมนารวม หัวข้อที่ 8 บทบาทของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในการรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคม
สัมมนารวม หัวข้อที่ 9 การเปิดตัวงาน 2025 UN International Year of Cooperativesและพิธีปิดงานสัมมนา
 
        ในคืนสุดท้ายนี้ เป็นการเลี้ยงอาหารค่ำแบบ “International Night” ซึ่งมีการแสดงดนตรีจากประเทศเจ้าภาพและวัฒนธรรม ผ่านการแต่งกายประจำชาติจากผู้เข้าร่วมสัมมนาแต่ละประเทศ
        สำหรับการประชุมใหญ่ของ ACCU ประจำปี 2567 นี้ พลตำรวจตรี ดนุกฤต กลัมพากร รองประธานกรรมการ ชสอ. ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการคนที่ 1 ของ ACCU อีกด้วย และการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการและการประชุมใหญ่ของ ACCU ปีต่อไป ประเทศที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพคือ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดย National Confederation of Cooperatives (NATCCO) และ Philippine Federation of Credit Cooperatives (PFCCO) ในเดือนกันยายน ปี 2568
วันที่เขียนข่าว : 13 ก.ย. 2567
ผู้เขียนข่าว : FSCT
แชร์ข่าว :  
 

 
 


 
Copyright ® 2007-2013 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด.
199 หมู่ที่ 2 ถนนนครอินทร์ ตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130 โทร. 02 496 1199  แฟ็กซ์. 02 496 1177, 02 496 1188  อีเมล์ CONTACT@FSCT.COM